เคล็ดลับในการซื้อรถมอเตอร์ไซค์มือสอง

  1. การตรวจสอบสภาพภายนอก
    ดูรายละเอียดของร่องรอยต่างๆ ร่องรอยที่ว่านี่คือร่องรอยของการล้มนะครับ ไม่ใช่รอยขูดขีดเล็กๆ น้อยๆ ร่องรอยของการล้มนั้นสามารถดูได้จากจุดที่ล้มแล้วจะโดนพื้นก่อน เช่น แฮนด์ แฟริ่งข้าง พักเท้า พวกนี้เวลาล้มแล้วจะโดนพื้นก่อนเสมอ แต่การล้มอย่างนี้เพียงอย่างเดียวก็เป็นการล้มแบบไม่หนัก แต่ไอ้ที่อยากให้ดูคือ ตัวถังรถว่ามีรอยเชื่อมใหม่มาหรือไม่ โช๊คอัพหน้า-หลัง ว่าคดหรือไม่ สวิงอาร์มเป็นอย่างไร พวกนี้จะเกี่ยวกับการชน หรือล้มหนักๆ ซึ่งสามารถสันนิษฐานได้ว่าอาจจะกระเทือนถึงเครื่องยนต์ได้ และเราก็ไม่ควรเสี่ยงซื้อมาใช้งาน
  2. การตรวจดูสภาพเครื่องยนต์
    จะต้องสต๊าดติดง่าย ไม่มีเสียงดังผิดปกติ เร่งไม่สะดุด ไม่มีควันขาวหรือควันดำมากเกินไป ตรวจสอบดูว่ามีรอยการเปิดฝามาหรือไม่ โดยให้ดูที่รอยต่อระหว่างฝาสูบกับเสื้อสูบ ส่วนที่ตีนเสื้อสูบก็ตรวจดูเช่นกัน และดูว่ามีร่องรอยน้ำมันเยิ้มหรือไม่ ส่วนรถที่มีหม้อน้ำก็ดูรอยน้ำรั้วที่จุดข้อต่อต่างๆ รอยน้ำสนิมที่เป็นคราบในจุดต่างๆ ซึ่งรอยเหล่านี้จะบอกให้เรารู้ว่าเคยมีรอยน้ำรั้วที่ใดบ้าง ในส่วนคาร์บูเรเตอร์ก็สังเกตว่าแห้งดีหรือไม่ มีกลิ่นน้ำมันโชยออกมามากรึเปล่า แต่ถ้าเป็นเครื่องหัวฉีดก็ผ่านไปครับดูด้วยตาเปล่าลำบาก พวกนี้ต้องจับปลั๊กเช็คเอา
  3. ตรวจระบบเบรก
    เบรกเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เบรกถูกใช้งานหนักพอๆ กับเครื่องยนต์ การตรวจดูก็เริ่มที่สังเกตพวกท่อทางน้ำมันเบรกว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ จากท่อแล้วก็ไปดูพวกคาร์ลิปเปอร์เบรกกันว่ามีรอยกระแทกมั้ย เพราะอาจทำให้คาร์ลิปเปอร์เบี้ยวได้ ทีนี้ก็มาดูที่จานเบรกกันต่อว่ามีร่องรอยอะไรบ้าง เช่น จานคด จานไหม้ พอดูด้วยตาเปล่าเรียบร้อยก็ลองหมุนล้อดูว่าเบรกมีการติดขัดอะไรหรือไม่ แล้วก็ลองเบรกดูทั้งล้อหน้า-ล้อหลัง ว่ามีเสียงอะไรผิดปกติมั้ย ส่วนถ้าจะลองว่าเบรกลื่น เบรกอยู่มั้ย อันนี้ต้องลองขับแล้วเบรกดู
  4. ตรวจช่วงหน้า – หลัง
    ช่วงหน้าในที่นี้เหมารวมหมด ตั้งแต่วงล้อ ยาง โช๊คอัพ ไฟหน้า ไฟเลี้ยว แผงคอ ฯลฯ ง่ายๆ คือ ครึ่งรถช่วงหน้าทั้งหมด ถามว่าดูทำไม? ก็ต้องบอกว่ามันต่อเนื่องจากการตรวจระบบเบรกหน้าครับ บางคันเบรกแน่น แต่ขายึดคาร์ลิปเปอร์เบี้ยวนิดเดียว ขับไปๆ เบรกก็ไม่อยู่ กินผ้าเบรกข้างเดียว แค่เรื่องเล็กๆ ก็อาจเป็นหายนะครั้งใหญ่ได้ ดังนั้นตรวจสอบให้ละเอียดเอาไว้ก่อนดีกว่า ลองโยกแผงคอดูว่าลูกปีนคอเป็นยังไงบ้าง ซีลโช๊คอัพรั่วมั้ย ส่วนด้านหลังก็เช่นกัน โช้คอัพหลังของเดิม หรือเปลี่ยนมา
  5. ตรวจเรือนไมล์และระบบไฟ
    ดูเรือนไมล์ว่าเป็นของตรงรุ่นไหม เป็นของที่เปลี่ยนมาใส่ใหม่หรือเปล่า จากนั้นก็เปิดสวิทช์ ON ดูว่าไฟบอกสัญญาณทำงานหมดไหม หรือถ้ามีไฟเตือนอะไรขึ้นมาก็ต้องหาสาเหตุที่มาให้แน่นอนและชัดเจน
  6. ตรวจตัวถัง
    ลองดูรอยบุบของโครง โดยเฉพาะบริเวณที่ใกล้ๆ ตำแหน่งรอยเชื่อม ให้ดูว่ามีรอยร้าวของรอยเชื่อมหรือไม่ เพราะในตำแหน่งใกล้รอยเชื่อมมันอันตรายหากเกิดการกระแทก อีกส่วนที่ควรตรวจดูคือบริเวณ รอยเชื่อมระหว่างโครงรถ กับคอรถ ตรวจดูว่ารอยเชื่อมนั้นมีสีกระเทาะออกมาเหมือนโดนกระแทกมาหรือเปล่า ถ้ามีก็อาจจะชนมาจนคอเสียศูนย์ไปแล้ว
  7. ตรวจสายไฟ,สายยางต่างๆ
    ดูสายยางต่างๆว่ามีรอยชำรุด หรืออยู่ในสภาพใด ในส่วนสายไฟนั้น ให้ตรวจดูความเรียบร้อยของการเดินสายด้วย ในรถที่มีหม้อน้ำให้ลองบีบท่อน้ำดูว่ากรอบหรือแข็งหมดสภาพรึเปล่า
  8. ตรวจท่อไอเสีย
    บริเวณคอท่อไอเสียกับปะเก็นท่อไอเสีย ดูว่าน๊อตคอท่ออยู่ครบหรือหรือถูกเปลี่ยน เพราะส่วนมากจะมีปัญหาแถวนี้ จากนั้นดูสภาพของท่อไอเสีย โดยดูจากสนิมที่กิน เนื้อเหล็ก ไล่ตั้งแต่คอท่อ จากนั้นก็ไปดูที่ปลายท่อว่ามีอะไรเยิ้มเกาะมากไหม เพราะมันแสดงถึง สภาพเครื่องยนต์ได้
  9. ตรวจโซ่,สายพาน,เพลาท้าย
    อย่างโซ่ก็ต้องดูทั้งระบบซึ่งหมายถึงสเตอร์หน้า – หลังด้วยว่าสึกหรอไปมากขนาดไหน ส่วนถ้าเป็นรถสายพานก็เปิดช่อง เช็คสายพานว่าสายพานมีสภาพเป็นอย่างไร หรือถ้าเป็นแบบเพลาขับ – เฟืองท้าย ก็ต้องเปิดดูสีและระดับน้ำมันจริงด้วย
  10. ลองขับด้วยตัวเอง
    ลองสตาร์ทเครื่องดู ลองฟังเสียงดูว่ามีเสียงแปลกออกมาหรือแหลมออกมาไหม ถ้าไม่แน่ใจลองบิดเร่ง รอบดู แต่อย่าไปเบิ้ล ส่วนมากถ้าเครื่องสะอาด ก็มักจะมีแค่เสียงวาล์ว คราวนี้ลองขับดูครับ เพราะการลองขับนั้นได้หลายอย่างมากตั้งแต่เรื่องเครื่องยนต์ เรื่องเกียร์ เรื่องเบรก โช๊คอัพ ฯลฯ เอาเป็นว่าก่อนจะซื้อต้องลองขับให้มั่นใจ อย่ามัวเกรงใจ อีกเรื่องที่สำคัญเรื่องทะเบียนครับ ตรวจสอบเอกสารดูให้ดีๆ ระวังไปเจอรถขโมย รถเถื่อนมา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *