ระบบเบรคมอเตอร์ไซค์โดยทั่วไปแบ่งเป็น 3 ระบบ ได้แก่ เบรคหน้า เบรคหลัง และเบรคด้วยเครื่องยนต์ หรือ Engine Brake โดยทั้ง 3 ระบบ จะแตกต่างกันที่ลักษณะการใช้งาน ดังนี้
- เบรคหน้า (Front Brake)
เบรคหน้า เป็นระบบเบรคมอเตอร์ไซค์ที่มีประสิทธิภาพในการชะลอความเร็วและหยุดรถมากที่สุด เหมาะกับการเบรคที่ไม่ต้องการระยะเบรคมากนัก โดยก้านเบรคหน้าจะติดตั้งอยู่ที่แฮนด์ด้านขวาของผู้ขับขี่ ระบบเบรคหน้าทำงานโดยส่งแรงบีบจากก้านเบรกไปตามสายเพื่อสูบฉีดน้ำมันเบรคไปยังคาลิเปอร์ให้บีบผ้าเบรคเข้ากับจานเบรคเมื่อต้องเบรคแบบกะทันหันการบีบก้านเบรคหน้าเบาๆ แล้วลงน้ำหนักช้าๆ จนรถหยุดก็เพียงพอแล้ว และการบีบก้านเบรคหน้าแบบเต็มแรงมือไปเลยนั้นก็มีโอกาสที่รถมอเตอร์ไซค์จะเสียหลักได้ - เบรคหลัง (Rear Brake)
ระบบเบรคหลังจะมีประสิทธิภาพในการหยุดรถมอเตอร์ไซค์น้อยกว่าระบบเบรคหน้า แต่ส่วนมากจะใช้เพื่อชะลอความเร็วของรถจึงเหมาะกับการเบรคที่ต้องเผื่อระยะเบรคมากหน่อย ไม่แนะนำให้ใช้ในกรณีที่ต้องเบรคแบบกะทันหันเพราะถ้าผู้ขับขี่กะระยะเบรคผิดรถอาจจะหยุดไม่ทันและเกิดอุบัติเหตุได้ โดยระบบเบรคหลังจะติดตั้งอยู่ที่แฮนด์ด้านซ้ายของผู้ขับขี่ - เบรคด้วยเครื่องยนต์ (Engine Brake)
ระบบนี้เป็นการชะลอความเร็วด้วยแรงฉุดของรอบเครื่องยนต์ที่ตกลงจากรอบปัจจุบันหลังจากเราปล่อยคันเร่ง เป็นกลไกของเครื่องยนต์ สามารถชะลอความเร็วได้โดยไม่ต้องบีบก้านเบรก แต่ถ้าต้องการหยุดรถก็ยังจำเป็นต้องใช้ระบบเบรคอื่นๆ ร่วมด้วย - เบรคอย่างไรให้ปลอดภัย
รถเสียหลัก คือเรื่องที่เกิดขึ้นได้จากการหยุดรถแบบกะทันหัน และจากลักษณะการใช้งานของระบบเบรคมอเตอร์ไซค์ทั้ง 3 ระบบ ที่พูดไปแล้วนั้น จะเห็นว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อใช้งานเบรคก็คือ น้ำหนักในการบีบก้านเบรกและการกะระยะเบรคให้เหมาะสม ซึ่งทั้ง 2 อย่างอาจจะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนที่ชั่วโมงบิดสูง ขี่มอเตอร์ไซค์และกำเบรคจนชินมือ แต่สำหรับคนที่ยังต้องการคำแนะนำอยู่ เราแนะนำให้ออกแรงบีบก้านเบรคเพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการหยุดรถด้วยเบรคหน้า และให้ออกแรงบีบก้านเบรคประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการหยุดรถด้วยเบรคหลัง และควรเพิ่มการกะระยะเบรกให้มากขึ้นกว่าปกติ